สวัสดีครับวันนี้หมวดหมีพึ่งจบหลักสูตรฝ่ายอำนวยการมาหมาด ๆ เลยอยากจะขอเขียนไว้เพื่อให้พี่ ๆ น้อง ๆ ที่สนใจเรียนหลักสูตรฝ่ายอำนวยการ แต่ไม่รู้ว่าเขาจะสอนอะไร และคุ้มค่าหรือไม่กับการมาเรียน
เกริ่นก่อนว่า หลักสูตรฝ่ายอำนวยการนี้ที่มาแต่เดิมคือ หลักสูตรเสนาธิการทหารบก หรือ เสธ.ทบ. แต่เนื่องจากตำรวจมีโครงสร้างและเป้าหมายในการบริหารงานที่แตกต่างกันออกไปจากทหาร จึงได้ทำการปรับปรุงมาเป็นหลักสูตรฝ่ายอำนวยการตำรวจแบบปัจจุบัน
“หน้าบ้านที่ดีย่อมมีหลังบ้านที่ดี”
ฝ่ายเสธ. สำหรับทหาร เขาคือมันสมองของกองทัพ และทหารให้ความสำคัญกับฝ่ายเสนาธิการมาก (โรงเรียนเสธ. แข่งกันเรียนเพื่อเลือกตำแหน่ง)
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันองค์กรตำรวจ จะไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายอำนวยการมากเท่าทหาร แต่ในยุคใหม่ที่ใกล้จะถึง ตำรวจจำเป็นต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ในอนาคตองค์กรตำรวจจะต้องพึ่งคนที่มีความรู้ด้านฝ่ายอำนวยการมากที่สุด! (มาเรียนซิแล้วจะรู้ว่าทำไม)
เกริ่นไปพอแล้ว เดียวจะกลายเป็นเล่าไปเสียหมด
เอาเป็นว่าเริ่มจาก หลักสูตรฝ่ายอำนวยการ เทียบเท่ากับหลักสูตรสารวัตร ใช้เวลาอบรมประมาณ 6 เดือน และเป็นหลักสูตรเดียวที่ใช้การสอบเข้า! ซึ่งเกณฑ์ในปัจจุบันจะแบ่งให้แต่ละ บช. สอบคัดเลือกเพื่อให้คนไปเรียน บช.ไหนคนเยอะหน่อยก็อาจจะต้องขยันหน่อย เพราะสู้กับคนเยอะ (อย่างเช่น บช.น.) และคัดเลือก บช.ละ 2 คน! (แล้วแต่โควตาของแต่ละปี และแต่ละ บช.)
ถึงแม้ว่าวิธีการนี้อาจจะไม่ได้คนเก่งที่สุด 1 – 66 คน แต่แนวคิดคือ คนที่อยู่ บช.ไหน อบรมเสร็จแล้ว ก็จะได้นำความรู้กลับไปใช้งานใน บช.นั้น
การสอบที่ผมเคยได้ยินมาคือเขาจะใช้ชุดข้อสอบที่มีอยู่ในคลัง (สมมติว่า 10,000 ข้อ) นำมาเขย่าข้อสอบ ในแต่ละ บช. จึงจะได้ข้อสอบที่ไม่เหมือนกัน ป้องกันปัญหาการโกงข้อสอบ (ซึ่งเชื่อเถอะว่าเอาเวลาคิดที่จะโกง ไปอ่านหนังสือสอบยังง่ายกว่า 555+)
เตรียมตัวอย่างไร?
ในเว็บของ บช.ศ. (https://edupol.org/Page/5.Education/Policegs/index.php) (อัพเดทใหม่แล้ว 17/11/64) จะเป็นเนื้อหาพื้นฐานของฝ่ายอำนวยการ ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่มีเวลาเตรียมตัว 3 เดือนขึ้นไป เพราะเนื้อหาฝ่ายอำนวยกว้างมาก ๆ กว้างยังกับทะเล วิธีลัดที่หลายท่านที่สอบได้ทำกันคือ อ่านชีทเก่า ๆ จากรุ่นพี่ที่ให้มาอีกที ซึ่งบางส่วนก็มาจากหนังสือที่มีขาย พวกหนังสือติวเข้า หลักสูตรฝ่ายอำนวยการตำรวจ ซึ่งหนังสือพวกนี้พอเป็นแนวทางได้ว่าเราจะเจอข้อสอบอะไร ดังนั้นถ้าเวลามีน้อยกว่า 1 เดือน สิ่งที่ควรทำคือตะลุยโจทย์ ทำให้ได้มากที่สุด อ่านผ่านตาให้ได้มากที่สุด ส่วนถ้าใครอ่านชีทเก่า ๆ ของรุ่นพี่จนรู้แล้วว่าบางข้อมันเฉลยผิด แสดงว่าคุณมีแนวโน้มสอบติดฝ่ายอำนวยการตำรวจแล้วครับ 555+
สอบติดแล้วยังไงต่อ?
สอบติดก็รอหนังสือส่งตัวไปอบรมเลยครับ หอบข้าวหอบของย้ายบ้านไปเลย เพราะเราจะได้ไปนอนที่บ้านหลังใหม่ชื่อ วิทยาลัยการตำรวจ กิน-นอน-เที่ยว-เรียน อยู่ที่นั่นแหละ ตลอดระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ข้าวมีให้ 3 มื้อทุกวัน เบรคก็มี ห้องนอนก็ดี แอร์ก็โคตรเย็น มีเตียงนอน มีที่อาบน้ำให้พร้อม ฟิตเนสก็มีแล้ว ไม่ต้องกลัวอยู่ไม่สบาย แค่หายไปจากที่ทำงานซัก 6 เดือนนั่นก็เรียกว่าสบายแล้ว 555+

เรียนอะไรบ้าง เรียนแล้วเครียดไหม?
การเรียนของหลักสูตรนี้ จะเริ่มปูพื้นฐานจากความรู้พื้นฐานของฝ่ายอำนวยการ ไล่ไปเรื่อย ๆ จนถึงวิชาที่สำคัญเช่น การเงิน งบประมาณ จัดซื้อจัดจ้าง พัสดุ ที่ราชพัสดุ วิชาสัมมนา วิชา CPX และ RPM
ซึ่งในหลาย ๆ วิชา มันคือสิทธิที่อยู่รอบตัวเรา มันคืองบประมาณในส่วนที่ควรมีให้ในการดำเนินการ ไม่ใช่ต้องให้ผู้ปฏิบัติไปควักเองจนกระเป๋าแฟบ ในหลาย ๆ เรื่องเมื่อเข้าไปเรียนแล้ว ก็จะ อ๋อออ นี่ตัวเราเองมีสิทธินู่นนี่นั่นด้วยหรอ , นี่เรากำลังทำผิดระเบียบอยู่หรอ , เรื่องแบบนี้มีผลกับงบประมาณด้วยหรอ ถึงว่าทำไมผู้บังคับบัญชาถึงสั่งแบบนี้ เป็นต้น
ซึ่งเราจะได้รับรู้มุมมองของทั้ง สิ่งที่ผู้ปฏิบัติพึงมี และสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาต้องแบกรับ ทั้งด้านนโยบายและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

ต้องยอมรับอย่างนึงว่า หลักสูตรนี้เรียนจนเหนื่อย เรียนเหนื่อยจนต้องร้องขอชีวิต มีการบ้านให้ทำแทบทุกวันและต้องมาพรีเซนต์หน้าห้องด้วย ขนาดปริญญาโท ยังไม่พรีเซนต์บ่อยเท่าหลักสูตรฝอ.ตร.เลย เรียกได้ว่าถ้ามาเรียนคุณจะไม่กลัวกับคำว่าพรีเซนต์อีกต่อไป แต่คุณจะกลัวว่าทำงานภายในเวลาจำกัดแล้วงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควรแทน และที่สำคัญคือ ถ้าคนในรุ่นตั้งใจเรียน และตั้งใจกันทำงานมาก ก็จะยิ่งกดดัน แต่ผลลัพธ์ของการเรียนคือจำได้ และพอมองภาพในสถานการณ์จริงออก ดังเช่นวิชา CPX หรือการแก้ไขปัญหาที่บังคับการ (โดยจำลองมาจากสถานการณ์จริง ให้เราเริ่มทำจาก 0 จนถึงขั้นแถลงแผน) หรือวิชา RPM (การบริหารวิกฤตการณ์) ที่คล้าย ๆ กับ CPX แต่เราจะได้รับโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์มาเรื่อย ๆ
กลับมาเป็นนักเรียนในคราบ ร.ต.อ. ความมันส์ คูณ 3 !
ถ้านึกถึงตัวเองเป็นชั้น 4 หรือตอนเป็นนักเรียนอบรม 4 เดือน เราตัดเรื่องของการฝึกออกไป แล้วใส่มาแต่เรื่องการเรียนในห้อง เลิกเรียนจะไปไหนก็ได้ แต่ขอให้อยู่ในโอวาทคนทางบ้าน (กรณีมีครอบครัว) และการบ้านที่สั่งมาต้องเสร็จ นี่มันความฟินที่อาจจะหาไม่ได้อีกแล้วในช่วงชีวิตนี้ (ยกเว้นแต่จะข้ามเหล่าไปเรียนหลักสูตร เสธ.ทบ. ที่เรียนนานถึง 1 ปี)

ด้วยวัยวุฒิที่สูงขึ้น จะทำให้ได้แนวคิดใหม่ ๆ จากเพื่อนร่วมรุ่น ซึ่งมีทั้งพี่ เพื่อน หรือน้อง ที่ให้ คอนเนคชั่น , ความรู้ และอื่น ๆ ที่หาไม่ได้แบบตอนเรายังเป็นเด็กที่ยังไม่ค่อยรับรู้อะไรในยุทธจักรสีกากีมากนั้น การได้มาแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างยาวนานถึง 6 เดือน จากต่างหน้าที่ ต่างบช. อาจจะทำให้มุมมองหลาย ๆ อย่างในการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปพอสมควร บางท่านอาจจะได้ย้ายตำแหน่งเพียงเพราะมาเรียน ฝอ.ตร. ก็มีมาแล้ว
จบมาแล้วพร้อมทำงานฝ่ายอำนวยการเลยใช่ไหม?
ด้วยความคาดหวังของหลายคนว่าจบ ฝอ.ตร. แล้วสามารถลงทำงานฝ่ายอำนวยการได้เลย อันนี้ไม่จริงครับ ถ้าหน้างานเดิมไม่อยู่ฝ่ายอำนวยการ อย่างไรก็ทำไม่ได้ (หากไม่ให้เรียนรู้งานก่อน) เพราะเราไม่ได้เรียนการปฏิบัติ ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ เรารู้ว่าเรามีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน แต่เราไม่รู้ว่าเราจะต้องพิมพ์เอกสารอย่างไรเพื่อนำไปเบิก เป็นต้น เพราะเราเรียนทฤษฎี แต่ไม่ได้เรียนขั้นตอนถึงว่าเขียนอย่างไร เสนออย่างไร (ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเฉย ๆ นะ)
แต่สิ่งที่ได้จากการเรียนมันคือการเปิดโลก เปิดแนวคิดของฝ่ายอำนวยการ เพื่อไปต่อยอดหรือนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “รู้ว่าเงินที่มันมีอยู่ในระเบียบ มันอยู่ตรงไหน” และ “การเป็นฝ่ายอำนวยการที่ดีควรปฏิบัติอย่างไร”เพื่อซัพพอร์ทการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา และเสนอทางเลือกที่ดีให้ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจ (จะเอาไม่เอาก็เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา)
สรุป
มาเรียนเถอะ งานอะพักบ้างก็ได้ เราไม่อยู่เขาก็มีคนทำแทน ไม่ต้องห่วงหรอกเรื่องเงินประจำตำแหน่งต่าง ๆ อะ พอมาอยู่นี่รายจ่ายมันน้อยกว่าตอนทำงานอีกนะ ไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน ข้าวก็มีให้กินทุกมื้อ แถมได้รับความรู้ไปเต็ม ๆ คอนเนคชั่นก็เพียบทั้งเพื่อนและอาจารย์
มาเปิดโลกบ้าง ! เรียนจบแล้วก็จะได้เป็นคนที่เก่งขึ้นกว่าเดิม ทักษะต่าง ๆ ก็ดีขึ้น กลับไปทำงานจะได้พัฒนาหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้นด้วยความคิดของคนที่ผ่านการอบรมมาแล้ว และที่สำคัญ…
“เป็นหลักสูตรเดียวที่ต้องสอบเพื่อเข้ามาอบรม”
สั้น ๆ แค่นี้ แค่ก้าวเข้ามาสอบก็มีแต่ได้กับได้ ไม่มีอะไรจะเสีย .,

2 Comments Add yours