ผมได้หนังสือเล่มนี้มาจากเพื่อนของผมอีกทีหนึ่ง บอกตามตรงปกติผมไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือที่ข้าราชการเป็นคนเขียนบอกเล่าประวัติตัวเองสักเท่าไหร่ เพราะมักจะเขียนมาอวยตัวเองและหนุนตัวเองเฉย ๆ แต่เพื่อนผมบอกให้ลองอ่านดูก่อนเพราะพี่เขามีแนวคิดที่ดี และการเขียนหนังสือครั้งนี้เหมือนการได้ “ระบาย” ความอัดอั้นตันใจที่มีต่อการทำงานที่ผ่านมา และส่งต่อแนวคิดที่ดีให้กับผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้อ่านที่เป็นตำรวจ
ผมอ่านไปเพียงบทเดียว สารภาพเลยว่าผมวางหนังสือของพี่เขาไม่ลง มันคือไกด์ไลน์ชีวิตการรับราชการของนักเรียนนายร้อยตำรวจโดยแท้!
ชีวิตของ พล.ต.อ.นเรศ นันทโชติ มาจากครอบครัวที่ยากจน ชีวิตในวัยเด็กท่านเขียนเองเลยว่าไม่เป็นตำรวจก็เป็นโจร แต่ยังดีที่โชคชะตายังให้เป็นตำรวจ จึงเริ่มจาก รร.นายสิบ และสอบเข้ามาเป็น นรต. รุ่นที่ 37 ระหว่างเรียนก็ได้เป็นหัวหน้าตอน (เรียนเก่ง) และเป็นอดีต รองหัวหน้านักเรียน (หมวกแดง) แค่นี้ก็น่าจะการันตีความตู้ และความเนี๊ยบในการทำงานได้แล้ว

ลงตำแหน่งแรกเป็น รอง สว. สืบสวนสอบสวน สภ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ หรือสมัยนี้ก็ พงส. นี่แหละ อ่านบทนี้แล้วนี่มันตัวเองชัด ๆ ! เพราะบทนี้บอกเล่าถึงการเป็นร้อยเวร ซึ่งประสบปัญหาไม่ต่างกับปัจจุบันคือ คดีเยอะ คนน้อย ประชาชนต้องมานั่งรอ ผู้เขียนเล่าและบรรยายเพียงไม่กี่บรรทัดผมก็เข้าใจแล้วเพราะเคยประสบชะตากรรมเดียวกัน แต่ไม่เพียงแต่เล่าเท่านั้น ระหว่างนี้ก็จะคอยสอดแทรกแนวคิดเข้าไปด้วยว่าจะต้องทำอย่างไร และควรทำแบบไหน ซึ่งเราจะได้เห็นความตู้ในการทำงานสอบสวนผ่านตัวหนังสือ
อ่านไปสักพักผมถึงกับตกใจและเข้าใจผู้เขียนในขณะนั้น เพราะทำงานสอบสวนมาเข้าปีที่ 4 ก็เริ่มเกิดคำถามกับตัวเองว่า การทำงานแบบเดิม วงจรแบบเดิม ไม่มีเป้าหมายในชีวิต เอาตัวรอดไปวัน ๆ มันไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งผมเคยมีความคิดแบบเดียวกับผู้เขียน และ นรต.หลายนายที่ยังคงทำงานสอบสวนเข้าปีที่ 3-4 ก็คงมีความคิดที่คล้าย ๆ กัน เพราะมันเป็นจุดที่บอกเราว่า จะไปต่อในงานสอบสวน หรือพอแค่นี้ก่อนแล้วทดลองไปพบกับสิ่งใหม่ ๆ ในหน้างานอื่น (ผมถึงบอกว่าหนังสือเล่มนี้มันคือไกด์ไลน์ของ นรต. เพราะจังหวะชีวิตมันใกล้เคียงกันมาก)
หลังจากทำงานไป 4 ปี ผู้เขียนก็ย้ายเข้า รร.นรต. เข้ามาเป็น ผบ.มว. ผมชอบแนวคิดที่ผู้เขียนไม่หยุดแสวงหาความรู้เรียนต่อ ป.โท เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน (ซึ่งเราจะได้เห็นการขวนขวายการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เรื่อย ๆ ตลอดทั้งเล่ม)
หลังจากอยู่ รร.นรต. 2 ปี ก็จิ้มออก เข้าทะเบียนพล ภาค 1 เพราะถือคติว่า ไม่มีเส้น ไม่มีนาย แต่ขอมีโอกาสเติบโตด้วยการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานใกล้ชิดกับผู้บังคับบัญชาที่มีโอกาสโยกย้าย
ต่อมาก็ทำงานดีจนได้รับการแต่งตั้งเป็น สารวัตรธุรการโรงพักพระประแดง และไม่ยอมปล่อยโอกาสและเวลาแต่ละช่วงตำแหน่งผ่านไปแบบเสียเปล่า ผู้เขียนเข้ารับการอบรมหลักสูตรฝ่ายอำนวยการตำรวจรุ่นที่ 15 ( ฝอ.ตร.เป็นหลักสูตรที่ดีมาก ๆ ปัจจุบันเรียนก่อนขึ้นสารวัตร ซึ่งผมเคยเขียนรีวิวเอาไว้แล้วสามารถอ่านได้ที่นี่) แต่ในสมัยนั้นเข้มข้นกว่าเพราะเรียนถึง 8 เดือน โดยเรียนกับ เสธ.ทบ 6 เดือน เรียนของกรมตำรวจ 2 เดือน จึงจบ
หลังจากนั้นพอเก็บความรู้ฝ่ายอำนวยการพอแล้ว ผู้เขียนย้ายไปเป็น สารวัตรสืบสวนสอบสวน (พงส.) สภ.สำโรงใต้ ทำงานสอบสวนได้ 2 ปี ก็เริ่มอิ่มตัวกับงานสอบสวน และหลังจากนั้นชีวิตของผู้เขียนก็เริ่มมีโอกาสที่สามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ
โดยเฉพาะการตัดสินใจกลับเข้ามาทำงานทะเบียนพล ภาค 1 ในขณะนั้น พล.ต.ท.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ หัวหน้าตำรวจภูธรภาค 1 ได้เลื่อนเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ (ฝ่ายป้องกันปราบปราม) และท่านได้เลือกให้ผู้เขียนไปทำหน้าที่ในตำแหน่งนายเวร ซึ่งตำแหน่งนายเวรรองอธิบดีกรมตำรวจ เทียบเท่ากับ รอง ผกก. ผู้เขียนจึงได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปด้วย
ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่บท นายเวร ผมชอบแนวคิดที่ผู้เขียนฝากไว้ท้ายบท สรุปใจความคือ
หากไม่ค้นพบตัวเอง ไม่ประเมินตัวเอง ไม่มีเป้าหมายในชีวิตให้กับตัวเอง ยังคิดแบบเดิม ทำงานแบบเดิม สุดท้ายก็ต้องอยู่แบบเดิม ไม่ปรับ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลยในชีวิต เมื่อเวลาผ่านไป ก็ยังคงอยู่ที่เดิม ทำงานแบบเดิม ไม่มีอะไรใหม่ให้เรียนรู้ และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิตเลย
เอาตรง ๆ ในหนังสือเล่มนี้ 1 ในบทความที่ผมชอบที่สุดคือ “นายเวร” เพราะปกติไม่ค่อยมีใครเล่า ไม่มีใครบอกเสียเท่าไหร่ ว่านายเวรต้องทำอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องปรับวิธีคิดอ่านอย่างไร จึงจะทันความคิดของผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรวางตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแก่ตนเองและผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะกฎเหล็กนายเวรของผู้เขียนคือ “ฟัง คิด จด จำ ถาม เตือน ตาม และรายงาน” ซึ่งกฎเหล็กนี้ผู้เขียน เขียนได้อธิบายไว้ค่อนข้างดีมาก ๆ เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ ไม่ว่าผู้อ่านจะเป็นใคร อยู่ในตำแหน่งอะไร เพราะมันคือหลักการการทำงานกับผู้บังคับบัญชา
หลังจากเป็นนายเวรมา 6 ปีเต็ม พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ก็เกษียณในตำแหน่ง ผบ.ตร. ซึ่งผู้เขียนในขณะนั้นก็ตำแหน่ง รอง ผบก. เพราะนายเวร ผบ.ตร. เทียบเท่า รอง ผบก. (ผู้เขียนขยับตำแหน่งขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามตำแหน่งของผู้บังคับบัญชา เรียกได้ว่าถูกลู่ ถูกไลน์ และมาได้ถึงขนาดนี้เพราะความสามารถและความรู้ของตนเองจริง ๆ ) เมื่อผู้บังคับบัญชาเกษียณ ผู้เขียนจึงได้รับการโยกย้ายไปดำรงตำแหน่ง รอง ผบก.จว.พระนครศรีอยุธยา แต่การกลับมาคราวนี้ ผู้เขียนกลับมาพร้อมกับความรู้ มุมมองวิธีคิด การทำงานและการแก้ปัญหา ต่าง ๆ ที่ได้รับมาตอนเป็นนายเวร เพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด
หลังจากนี้ผมจะเริ่มสรุปรวม ๆ เพราะจริง ๆ อยากให้ไปอ่านเอาเองในเล่ม รายละเอียดค่อนข้างมีมาก โดยเฉพาะหลังจากเป็น รอง ผบก. ผู้เขียนก็ทำงานเชิงรุกมาโดยตลอด
และจะเริ่มเห็นผู้เขียนผุดโครงการที่เป็นประโยชน์หลาย ๆ อย่าง ผมอ่านดูแล้วผมชอบแนวคิดของผู้เขียนที่พยายามให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับตำรวจ ทั้งโครงการฝากลูกไว้กับตำรวจ , การให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการให้เบาะแสคนร้ายเพื่อสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ สิ่งที่ผู้เขียนทำหลาย ๆ อย่างมันว้าวมาก ๆ สำหรับผม เพราะแน่นอนว่าการขอความร่วมมือจากภาคประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย ที่พีคที่สุดคือ นิมนต์พระทุกวัดใน จ.อยุธยา มาร่วมฟังโครงการของตำรวจได้นี่แหละสุดยอดแล้วสำหรับผม
ตลอดทั้งเล่มจะสอดแทรกแนวคิด และวิธีการการทำงานของผู้เขียนโดยตลอด หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนการศึกษาการทำงานและแนวคิดของผู้บังคับบัญชาระดับสูง , สิ่งที่ต้องพบเจอทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายในชีวิตข้าราชการตำรวจ และการเป็นตำรวจในแบบที่ควรจะเป็น ผมชอบที่ผู้เขียนจะเขียนข้อเตือนใจให้กับผู้อ่านอยู่เสมอ มันคอยย้ำเตือนว่าเราควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไรในตลอดช่วงชีวิตของการรับราชการตำรวจ (ไม่ได้เป็นแค่อุดมการณ์สวยหรู แต่หมายถึงว่าควรทำอะไรไม่ควรทำอะไรในสภาวะหรือในสถานการณ์แบบนั้นจริง ๆ)
“เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ก็ไม่มีประสบการณ์ เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ก็ไม่มีอำนาจ”
– นายปรีดี พนมยงค์
ผมเชื่อว่าอ่านหนังสือเล่มนี้ตอนจบเป็น ร.ต.ท. ใหม่ ๆ ก็ได้แบบหนึ่ง อ่านตอนเป็นสารวัตรก็ได้อีกแบบหนึ่ง อ่านตอนเป็นผู้บังคับบัญชาแล้วก็คงได้แนวคิดอีกแบบหนึ่ง เพราะมันเป็นหนังสือที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน ทำให้เรารับรู้และรู้สึกได้ของสภาวะในสถานการณ์นั้น ๆ แต่ประสบการณ์และสถานะของผู้อ่านอาจแตกต่างกันออกไป ทำให้ความรับรู้และความเข้าใจแตกต่างกัน
หนังสือเล่มนี้ถึงแม้จะอ่านจบแล้วก็สามารถหยิบมาอ่านได้อีกเรื่อย ๆ เสมือนคู่มือการทำงานเล่มหนึ่ง ที่จะคอยชี้แนะและบอกเล่าแนวทางการปฏิบัติจากผู้ที่มีประสบการณ์และผ่านมันมาแล้ว
สุดท้ายนี้ ผมขอบอกจากใจว่า ท่านกำลังอ่านหนังสือของคนตู้! ที่ทั้งชีวิตเต็มไปด้วยการทำงาน และไฟที่ลุกโชน ผ่านตัวอักษร จนแทบจะลุกไหม้หนังสือในขณะอ่าน! หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนที่ชอบใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ และไม่ชอบหาความวุ่นวายในชีวิตสักเท่าไหร่ เป็นหนังสือที่เหมาะกับคนชอบเผชิญหน้ากับปัญหา หรือคนที่อยากเปลี่ยนแปลงตนเอง หรือคนที่กำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ชีวิตเราจะอยู่แค่นี้หรือไปต่อ” เพราะนี่คือหนังสือที่รวบรวมแนวคิดของผู้บังคับบัญชาเอาไว้ การเป็นนายเวรอดีต ผบ.ตร. ถึง 6 ปี มันการันตีความคิดความอ่านของผู้เขียนต่อการทำงานกับผู้บังคับบัญชาได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เขียนเริ่มต้นจากการเป็นชาวบ้านธรรมดาเหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด ใช้แต่ความรู้ความสามารถสร้างมันขึ้นมา ผู้เขียนจึงเป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นถึงคนที่เติบโตได้ด้วยความรู้ความสามารถในยุทธจักรสีกากีนี้มีอยู่จริง!
